การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลทดแทนน้ำมันเตา

น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญของโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความร้อนในกระบวนการผลิต เช่นโรงงานแปรรูปอาหาร โรงงานฝอกย้อม โรงงานผลิตแอลกอฮอล์-เบียร์ และโรงงานผิตถุงมือยองเป็นต้น น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้ได้ง่าย การจัดเก็บสำรองไม่ยุ่งยากและสั่งซื้อได้สะดวก เครื่องจักรสำคัญที่คู่กับน้ำมันเตาคือ หม้อไอน้ำแบบท่อไฟ (Fire Tube Boiler) มีลักษณะที่สำคัญคือความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้จะวิ่งผ่านในท่อที่มีน้ำห่อหุ้มอยู่ หม้อไอน้ำชนิดนี้ทนความดันได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ตร.ซม. และมีขนาดไม่เกิน 20 ตันไอน้ำ/ชม.

หม้อไอน้ำอีกประเภทหนึ่งเรียกว่าหม้อไอน้ำแบบท่อน้ำ (Water Tube Boiler) สามารถทนความดันได้สูงและมีกำลังการผลิตไอน้ำได้มากกว่าหม้อไอน้ำแบบท่อไฟ โครงสร้างหม้อไอน้ำชนิดนี้ตรงกันข้ามกับหม้อไอน้ำแบบท่อไฟกล่าวคือความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้วิ่งอยู่นอกท่อที่มีน้ำไหลผ่าน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำมันเตามีราคาสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่ประเทศไทยลดค่าเงินบาทเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำให้ โรงงานหลายแห่ง เปลี่ยนมาใช้ ชีวมวล เป็นพลังงานทดแทน ทั้งนี้เพราะ ชีวมวลมีราคาถูกกว่า ในรูปแบบของ “บาท/ค่าความร้อน”

ในการคำนวณหาปริมาณชีวมวลทดแทนน้ำมันเตา ต้องนำประสิทธิภาพการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดมาพิจารณาร่วมด้วย เพราะน้ำมันเตาถูกเผาไหม้ได้ดีกว่าแกลบ

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอื่นๆที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมในการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลคือ เงินทุนในการก่อสร้างหม้อไอน้ำชีวมวลใหม่ สถานที่จัดเก็บชีวมวลมีเพียงพอหรือไม่ และค่าบำรุงรักษาที่เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย

Reference: หนังสือชีวมวล (Biomass) หน้า 61-62 ISBN 974-94991-0-7

ผู้เขียน/เรียบเรียง: ศูนย์ส่งเสริมพลังงานชีวมวล มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม